ปวดหลัง สัญญาณอันตรายที่ต้องพบแพทย์
โดย ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์
1. ไข้ ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดหลังที่รุนแรง ร่วมกับอาการไข้ สาเหตุส่วนใหญ่อาจเกิดเนื่องมาจากการติดเชื้อในร่างกาย บางครั้งอาจจะมีการติดเชื้อที่บริเวณกระดูกสันหลัง ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ของภาวะการติดเชื้อของกระดูกสันหลังนั้นอาจจะมีการติดเชื้อในบริเวณอื่นของร่างกายก่อน เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะอักเสบโดยเฉพาะในเพศหญิงวัยหลังหมดประจำเดือนไปแล้ว ทำให้มีการแพร่กระจายของเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด และเกิดการติดเชื้อที่บริเวณกระดูกสันหลัง มีการทำลายกระดูกและเนื้อเยื่ออ่อนในบริเวณรอบๆ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังอย่างรุนแรงร่วมกับอาการไข้ สาเหตุของเชื้อที่พบส่วนใหญ่มักเป็นเชื้อแบคทีเรีย และในบางครั้งอาจจะพบมีการติดเชื้อวัณโรคของกระดูกสันหลังได้เช่นเดียวกัน
2. มีประวัติเคยเป็นโรคมะเร็งมาก่อน ในผู้ป่วยที่เคยเป็นมะเร็งมาก่อน มีโอกาสเกิดการแพร่กระจายของมะเร็งมาที่บริเวณกระดูกสันหลังได้ มะเร็งที่มักจะแพร่กระจายมาที่บริเวณกระดูกสันหลังได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด มะเร็งในระบบทางเดินอาหาร มะเร็งต่อมไทรอยด์ เมื่อมีการแพร่กระจายของมะเร็งมาตามกระแสเลือดและมาที่บริเวณกระดูกสันหลังจะกระตุ้นให้เกิดการทำลายกระดูกเป็นอย่างมาก ทำให้โครงสร้างกระดูกปกติถูกทำลายลง เกิดกระดูกสันหลังยุบตัวลง ก่อให้เกิดอาการปวดหลังมาก ในบางครั้งถ้ามะเร็งแพร่กระจายไปกดทับเส้นประสาท และไขสันหลังก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการชา อาการอ่อนแรงของขา ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ รวมทั้งอาจจะไม่สามารถกลั้นอุจจาระ และกลั้นปัสสาวะได้ ทำให้เป็นอัมพาต
3. ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ หรือมีปัสสาวะเล็ด ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังร่วมกับอาการที่ไม่สามารถควบคุมการกลั้นปัสสาวะและอุจจาระได้นั้นสาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากมีการกดทับเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของลำไส้ และกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งสาเหตุของการกดทับเส้นประสาทมีได้หลายสาเหตุเช่น หมอนรองกระดูกที่มีขนาดใหญ่มากเคลื่อนออกมากดทับเส้นประสาท โรคมะเร็งแพร่กระจายมาที่กระดูกและมีการกดทับเส้นประสาทหรือไขสันหลัง รวมทั้งภาวะของการติดเชื้อของกระดูกสันหลังที่อาจจะมีหนองไปกดทับเส้นประสาท ทำให้ระบบการขับถ่ายผิดปกติ
4. มีอาการอ่อนแรงของขา หรือสูญเสียสมดุลของร่างกาย เช่นเดียวกัน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดเนื่องมาจากการที่เส้นประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของอวัยวะนั้นๆ ถูกกดทับ ทำให้ไม่สามารถควบคุมการทำงานการเคลื่อนไหวของระยางค์นั้นๆได้
5. มีอาการปวดตอนกลางคืนหรือปวดขณะพัก อาจจะมีหรือไม่มีเหงื่อออกตอนกลางคืน ซึ่งเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งของภาวะการติดเชื้อของกระดูกสันหลัง หรือมะเร็งที่แพร่กระจายมาที่กระดูกส่งผลทำให้มีอาการปวดมากแม้ขณะที่นอนพักอยู่
6. อาการชารอบๆทวารหนัก หรือสูญเสียความรู้สึกรอบๆทวารหนัก เกิดเนื่องมาจากมีการกดทับของเส้นประสาทที่ควบคุม และรับความรู้สึกในบริเวณรอบๆทวารหนัก
7. มีการใช้ยาสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่ได้รับการรักษาโดยการใช้ยาสเตียรอยด์เป็นประจำ เช่น ในกลุ่มผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเอสแอลอี(โรคพุ่มพวง) หรือผู้ป่วยที่ชอบซื้อยา สเตียรอยด์รับประทานเองโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน เกิดการติดเชื้อในร่างกายได้ง่ายกว่าคนปกติเพราะภูมิต้านทานของร่างกายอ่อนแอ ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโอกาสเกิดกระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุน และมีโอกาสเกิดการติดเชื้อได้ง่ายยิ่งขึ้น
8. ได้รับอุบัติเหตุ ในผู้ป่วยที่มีประวัติได้รับอุบัติเหตุอย่างรุนแรง ร่วมกับมีอาการปวดหลังแบบเฉียบพลันนั้นอาจจะทำให้เกิดกระดูกสันหลังหัก ยุบ ทำให้มีอาการปวดหลังเป็นอย่างมาก
9. น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ร่วมกับมีอาการปวดหลัง ให้ควรระวังเพราะอาจจะมีสาเหตุที่เกิดจากภาวะมะเร็งแพร่กระจายมาที่กระดูก การติดเชื้อของกระดูกสันหลัง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเบื่ออาหาร ไม่สามารถรับประทานอาหารได้อย่างเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายและน้ำหนักลด
10. ปวดหลังร่วมกับส่วนสูงที่ลดลง อาจเกิดเนื่องมาจากการที่มีโรคกระดูกพรุนร่วมกับการเกิดกระดูกสันหลังยุบตัวลง ทำให้เกิดหลังโก่งค่อม และส่วนสูงลดลง จึงทำให้เกิดมีอาการปวดมาก ส่วนใหญ่มักจะเกิดในผู้สูงอายุ
ดังนั้นในผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังร่วมกับอาการดังกล่าวข้างต้นควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุ และให้การรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป การวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่แรกจะทำให้การพยากรณ์โรคดี สามารถรักษาให้หายได้ ถ้าปล่อยให้เกิดอาการปวดหลังนานๆ และได้รับการรักษาที่ไม่เหมาะสม จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวด และถ้ามีอาการปวดเป็นระยะเวลานานจะทำให้ระบบการรับความรู้สึกผิดปกติไป รักษาอาการปวดได้ยากมากยิ่งขึ้น และเกิดโรคซึมเศร้ากับผู้ป่วยได้
ภาพ MRI แสดงการกดทับของไขสันหลังจากโรคมะเร็ง
ภาพเอกซเรย์แสดงการยุบตัวของกระดูกสันหลังจากโรคกระดูกพรุน
สอบถามปัญหาสุขภาพกระดูกและข้อได้ที่
Line OA: https://lin.ee/swOi91Q หรือ Line ID search @DoctorKeng
Website: www.doctorkeng.com
YouTube: https://www.youtube.com/results?search_query=taninnit+leerapun
Facebook: หมอเก่งไขปัญหาปวดกระดูกและข้อ
Blockdit: https://www.blockdit.com/doctorkeng
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญกระดูกและข้อ ปัจจุบันทำงานเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
© 2023 Taninit. All rights reserved.