เทคโนโลยีใหม่ ในการวินิจฉัยและรักษาโรคกระดูกและข้อด้วยเครื่องอัลตร้าซาวน์ (Ultrasound)
โดย ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์
ปัจจุบันการรักษาโรคกระดูกและข้อมีการพัฒนาก้าวหน้าเป็นอย่างมาก สามารถให้การวินิจฉัยโรคได้แม่นยำและรวดเร็ว และช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น เราได้มีการนำเครื่องเสียงความถี่สูง หรือ ultrasound มาช่วยในการวินิจฉัยโรค รวมทั้งนำมาใช้ระบุตำแหน่งในการฉีดยาตรงบริเวณที่เป็นโรค เพื่อให้ได้ตำแหน่งที่ถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น ช่วยให้การวินิจฉัยและการรักษาประสบผลสำเร็จมากกว่าในอดีตที่มีการฉีดยาเฉพาะที่โดยไม่ได้ใช้เครื่อง ultrasound ดังนั้นเครื่องเสียงความถี่สูงหรือ ultrasound จึงมีประโยชน์มากในการรักษาอาการต่างๆในโรคกระดูกและข้อ ทั้งในการวินิจฉัยและการระบุตำแหน่งของรอยโรค ซึ่งอาการของกระดูกและข้อต่างๆเหล่านี้สามารถให้การวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องได้แก่
1. อาการปวดไหล่ (อ่านเพิ่มเติม) ซึ่งมักจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวด ยกไหล่แล้วมีอาการเจ็บ ไหล่ติด บางครั้งอาการปวดมากจนขยับไม่ได้ หรือนอนทับไหล่ข้างนั้นก็จะมีอาการปวด ซึ่งเราสามารถนำเครื่องเสียงความถี่สูงหรือ ultrasound มาช่วยในการวินิจฉัยภาวะของส้นเอ็นที่มีการฉีกขาด เอ็นอักเสบ มีการบวมน้ำ หรือภาวะที่มีแคลเซียมในเส้นเอ็นและทำให้เกิดการอักเสบ ไม่ต้องรอดูอาการ โดยการลองทานยา ไปนวด ทำกายภาพบำบัดแล้วมีอาการปวดเพิ่มมากขึ้น และเมื่อเราสามารถวินิจฉัยภาวะของอาการปวดไหล่ไปแล้ว การฉีดยาเพื่อลดอาการปวด อาการอักเสบก็สามารถระบุตำแหน่งที่จะฉีดยาได้อย่างแม่นยำ ไม่ได้ฉีดยาเข้าไปในเส้นเอ็น ซึ่งจะมีผลทำให้เส้นเอ็นมีการฉีกขาดเพิ่มมากขึ้น
ดูวีดีโอประกอบ คลิกที่นี่
2. อาการปวดเข่า ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกิดจากโรคข้อเข่าเสื่อม (อ่านเพิ่มเติม) สามารถใช้เครื่องเสียงความถี่สูงในการดูเรื่องของการมีน้ำในข้อเข่า เนื่องจากมีการอักเสบ การดูกระดูกงอกบริเวณรอบๆข้อเข่า การประเมินถุงน้ำบริเวณด้านหลังเข่า ซึ่งหลังจากวินิจฉัยได้แล้วก็สามารถใช้เครื่อง ultrasound เป็นตัวบ่งบอกตำแหน่งในการดูดน้ำที่เกิดจากการอักเสบ และฉีดยาเข้าไปในข้อเข่าได้อย่างแม่นยำ
3. อาการปวดหลัง (อ่านเพิ่มเติม) ผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวดหลัง หรือร่วมกับมีอาการปวดร้าวลงบริเวณก้น ปวดร้าวลงขา ร่วมกับมีอาการชา ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มักจะเกิดจากภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม หรือมีการเคลื่อนของหมอนรองกระดูกสันหลังไปกดทับเส้นประสาท จึงทำให้ผู้ป้วยมีอาการดังกล่าว ดังนั้นการฉีดยาเข้าโพรงประสาทด้วยการใช้เครื่องultrasound เป็นตัวบ่งบอกในการฉีดยาจะทำให้สามารถฉีดได้ถูกตำแหน่ง ช่วยลดอาการปวดลงเป็นอย่างมาก ร่วมกับการรับประทานยาและการปรับพฤติกรรม (https://doctorkeng.com/general-knowledge-menu/back-neck-km/113-backpain-change.html)
4. อาการปวดต้นคอ (อ่านเพิ่มเติม) สาเหตุก็คล้ายกับอาการปวดหลัง ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม หรือมีการเคลื่อนของหมอนรองกระดูกสันหลังไปกดทับเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการปวดต้นคอ ปวดร้าวลงสะบัก ร้าวลงแขน ร่วมกับมีอาการชาที่แขนและมือร่วมด้วย อาการปวดส่วนหนึ่งเกิดจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ และมีการอักเสบของเส้นประสาท เราสามารถใช้เครื่อง ultrasound ระบุตำแหน่งของแส้นประสาทที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อในบริเวณที่มีอาการปวด และฉีดยาไปในตำแหน่งนั้น เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว บรรเทาอาการปวดได้เป็นอย่งมาก ร่วมกับการรักษาด้วยการรับประทานยา และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เหมาะสม (https://doctorkeng.com/general-knowledge-menu/general-km/176-bone-disease-suggest.html)
5. อาการปวดบริเวณส้นเท้า (อ่านเพิ่มเติม) สาเหตุหลักคือมีการอักเสบของพังผืดฝ่าเท้า ชั้นไขมันบริเวณส้นเท้าบางลง และมีการหดตัวของเส้นเอ็นร้อยหวายที่บริเวณส้นเท้า ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดมากเวลาเดิน หรือยืนนานๆ หรือตื่นนอนตอนเช้าเมื่อก้าวลงจากเตียงจะมีอาการเจ็บปวดมากบริเวณส้นเท้า ปัจจัยเสี่ยงได้แก่ น้ำหนักตัวที่มาก การยืนนานๆ การเดินหรือวิ่งมากๆ พบได้บ่อยเช่น นักกอล์ฟ พ่อค้าแม่ค้าที่ยืนขายของเป็นระยะเวลานาน การรักษาอย่างหนึ่งได้แก่การฉีดยาลดการอักเสบเข้าไปยังตำแหน่งบริเวณที่มีการอักเสบ ซึ่งเราสามารถระบุตำแหน่งที่ถูกต้องด้วยการใช้เครื่องเสียงความถี่สูงหรือ ultrasound มาใช้ประโยชน์
สอบถามปัญหาสุขภาพกระดูกและข้อได้ที่
Line OA: https://lin.ee/swOi91Q หรือ Line ID search @DoctorKeng
Website: www.doctorkeng.com
YouTube: https://www.youtube.com/results?search_query=taninnit+leerapun
Facebook: หมอเก่งไขปัญหาปวดกระดูกและข้อ
Blockdit: https://www.blockdit.com/doctorkeng
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญกระดูกและข้อ ปัจจุบันทำงานเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
© 2023 Taninit. All rights reserved.