ปวดคอ เพราะใช้งานโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์มากเกินไป !!
โดย ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์
อาการปวดต้นคอ ปวดบ่า ปวดไหล่มักเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยในยุคปัจจุบัน สาเหตุหนึ่งเนื่องจากการก้มงานใช้มือถือ หรือทำงานกับคอมพิวเตอร์มากเกินไปจนทำให้เกิดการล้าของกล้ามเนื้อบริเวณคอ
อีกสาเหตุหนึ่งที่พบได้บ่อยคือการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลังบริเวณคอทำให้เกิดการเสื่อมของกระดูกข้อต่อในบางครั้งอาจจะเกิดการเคลื่อนของหมอนรองกระดูกและกดทับเส้นประสาท ทำให้มีอาการปวดคอ ปวดสะบัก ร่วมกับอาการชาร้าวลงไหล่และแขน อาการปวดจะเป็นมากขึ้นเมื่อต้องยกของหนัก นั่งขับรถ หรือใช้คอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ บางครั้งอาจจะมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย
อาการอย่างไรจึงควรพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและการรักษา
1.เมื่อมีอาการปวดอย่างรุนแรง และเป็นระยะเวลานาน โดยอาการไม่บรรเทาลง
2.มีอาการปวดร้าวสะบัก และร้าวลงแขน
3.มีอาการชา และอ่อนแรงร่วมด้วย
4.มีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย
สาเหตุ
1.กล้ามเนื้อเกร็งตัวมากผิดปกติ ทำให้เกิดการล้าของกล้ามเนื้อ
2.ข้อต่อและหมอนรองกระดูกคอเสื่อม
3.มีการเคลื่อนของหมอนรองกระดูกสันหลังไปกดทับรากประสาทที่บริเวณคอ
4.มีโรคบางโรคร่วมด้วย เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือมะเร็ง
การป้องกันอาการปวดคอ
สาเหตุส่วนใหญ่ของอาการปวดต้นคอสัมพันธ์กับลักษณะของท่าทาง และการใช้งานที่มากเกินไป ร่วมกับอายุที่เพิ่มมากขึ้น การป้องกันที่ดีที่สุดคือการพยายามตั้งคอให้ตรง ให้อยู่ตรงศูนย์กลางของกระดูกสันหลัง ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน
1. คงสภาพท่าทางการใช้คออย่างเหมาะสม เมื่อเรายืนหรือนั่งให้แนวของไหล่เป็นแนวขนานกับแนวของหูทั้ง 2 ข้าง
นั่งให้แนวของไหล่เป็นแนวขนานกับแนวของหูทั้ง 2 ข้าง
2. ถ้าทำงานเป็นเวลานานก็ควรหยุดพักบ้าง ถ้าเราเดินทางไกล ใช้คอมพิวเตอร์ หรือทำงานเป็นระยะเวลานาน ให้สลับปรับเปลี่ยนท่าทาง ยืดกล้ามเนื้อไหล่และกล้ามเนื้อคอ
ยืดกล้ามเนื้อไหล่ และกล้ามเนื้อคอ
3. ปรับโต๊ะทำงาน เก้าอี้ คอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม โดยให้จอคอมพิวเตอร์อยู่ในระดับเดียวกันกับระดับสายตา เก้าอี้ที่นั่งควรจะมีพี่พักแขนด้วย
ปรับโต๊ทำงาน เก้าอี้ คอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม
4. เมื่อใช้โทรศัพท์พยายามหลีกเลี่ยงท่าที่ใช้ไหล่หนีบโทรศัพท์กับหู ถ้าต้องพูดเป็นระยะเวลานานก็ควรใช้หูฟังช่วย
ใช้โทรศัพท์ให้เหมาะสม
5. หยุดการสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่จะทำให้มีอาการปวดคอเพิ่มมากขึ้น
หยุดการสูบบุหรี่
6. หลีกเลี่ยงการใช้กระเป๋าเป้ที่หนัก เพราะน้ำหนักของกระเป๋าที่มากเกินไปจะทำให้เกิดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อบริเวณคอ
หลีกเลี่ยงการใช้กระเป๋าเป้ที่หนักเกินไป
7. การนอนควรนอนในท่าที่ถูกต้องคือ นอนหงายให้คอขนานกับแนวแกนของร่างกาย ใช้หมอนเล็กๆหนุนคอ ใช้หมอนรองใต้เข่าเพื่อให้กล้ามเนื้อหลังคลายตัวจะได้ไม่ปวดหลัง
นอนในท่าที่ถูกต้อง
ถ้ามีอาการปวดมากหลังจากปรับพฤติกรรมแล้วควรจะพบแพทย์ ซึ่งแพทย์จะทำการตรวจร่างกาย ตรวจด้วยภาพเอกซเรย์เพื่อประเมินสภาพของกระดูกและหมอนรองกระดูกบริเวณคอ ถ้ามีความสงสัยมากว่ามีการกดทับเส้นประสาทมากน้อยเพียงใดอาจจะต้องตรวจคอด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เรียกว่า MRI
การรักษา
1.รับประทานยาลดปวด ลดอักเสบ คลายกล้ามเนื้อ
2.ฉีดยาบล็อกเส้นประสาทเพื่อลดการอักเสบบริเวณรากประสาทที่คอโดยการใช้เครื่องเสียงความถี่สูงหรือ Ultrasound ในการระบุตำแหน่งที่ฉีดยา
3.การปรับพฤติกรรมที่เหมาะสมดังที่กล่าวข้างต้น
มากกว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยสามารถรักษาได้ด้วยวิธีดังกล่าวข้างต้น มีน้อยมากที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ระยะเวลาในการรักษาส่วนใหญ่ประมาณ 6-8 เดือน
สอบถามปัญหาสุขภาพกระดูกและข้อได้ที่
Line OA: https://lin.ee/swOi91Q หรือ Line ID search @DoctorKeng
Website: www.doctorkeng.com
YouTube: https://www.youtube.com/results?search_query=taninnit+leerapun
Facebook: หมอเก่งไขปัญหาปวดกระดูกและข้อ
Blockdit: https://www.blockdit.com/doctorkeng
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญกระดูกและข้อ ปัจจุบันทำงานเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
© 2023 Taninit. All rights reserved.